โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม
ชื่อโครงการ “Workable Artist Gallery”
ความเป็นมา และแนวคิด: ในประเทศไทยมีคนพิการมากกว่า 4 ล้านคนจากการประเมินจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่มีคนพิการลงทะเบียนในระบบเพื่อใช้สวัสดิการรัฐ จำนวนกว่า 2 ล้านคน จากฐานข้อมูลของประกันสังคมมีคนพิการรุนแรงกว่า 5 หมื่นคน ส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้อีก เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการยังมีอีกภารกิจในการนำเสนอ ต้นแบบตัวอย่างอาชีพคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวม จากแนวคิดให้อาชีพแต่ละอาชีพสามารถอยู่รอดได้ตามกลไกทางการค้า เป็นการแสดงถึงศักยภาพของธุรกิจแต่ละธุรกิจ โดยคำนึงถึงแก่นแท้ของการดำรงชีวิตที่คนพิการสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างลงตัว และมีคุณค่าในตัวเอง ไม่เป็นภาระสังคม และยังเป็นกลุ่มประชากรที่เป็นส่วนหนึ่งในกลไกเชิงเศรษฐศาสตร์ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาอาชีพคนพิการมาตั้งแต่ปี 2551 และก่อนตั้งเครือข่ายฯ ในปี 2559 ซึ่งมีการสร้างแบรนด์ “Workable คนพิการทำงานได้” เมื่อปี 2560 พบว่าระหว่างดำเนินการมีคนพิการจำนวนหนึ่ง ที่มีความสามารถในการวาดภาพด้วยเทคนิคต่างๆ อีกทั้ยังประทับใจและสะท้อนใจกับคำพูดของนายธำมรงค์ ที่กล่าวว่า “ผมพิการรุนแรงไม่มีความสามารถอะไรนอกจากวาดภาพ” อีกทั้งนายปรีดา ยังเคยทำกิจกรรมบริจาคภาพวาดด้วยกาแฟในนาม “Preedano” ในหลายวาระจึงมีประสบการทั้งด้านการจัดการ และเป็นผู้วาดภาพด้วยกาแฟเอง ตั้งแต่ปี 2553
นายปรีดา ลิ้มนนทกุล จึงริเริ่มในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพคนพิการอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมอีกโครงการหนึ่งขึ้นมา โดยตั้งชื่อโครงการว่า “Workable Artist Gallery” ซึ่งใช้อาคารในรูปแบบทาวน์โฮมเป็น ศูนย์จัดแสดงภาพวาดที่มาจากฝีมือคนพิการทั้งหมด 100% ในด้านการดำเนินการนั้นจะเน้นการบริหารจัดการ “กรรมสิทธิ์” และ “ลิขสิทธิ์” ที่เกิดจากภาพวาดฝีมือคนพิการ อย่างเป็นระบบ และเป็นธรรม
รูปแบบการดำเนินการ: แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
· รูปแบบ “กรรมสิทธิ์” คือ การจำหน่ายภาพวาดพร้อมกรอบ และไม่พร้อมกรอบ
· รูปแบบ “ลิขสิทธิ์” คือ การนำลิขสิทธิ์ภาพไปสร้างประโยชน์เป็นเงินหรือทรัพย์สินในลักษณะต่างๆ เช่น การจำหน่ายภาพลิขสิทธิ์ซ้ำ (Re print) การนำภาพไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ต่างๆ การนำภาพไปเป็นลายในบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภค-บริโภค การนำภาพไปเป็นลายในกระดาษห่อของขวัญ เป็นต้น
ทั้งนี้ในการดำเนินการนั้น มีเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ
สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ และเป็นประโยชน์:
1. ความสามารถของคนพิการที่มีลักษณะความพิการที่รุนแรง และ/หรือ มีความสามารถในการวาดภาพด้วยเทคนิคต่างๆ สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้
2. อาชีพวาดภาพของคนพิการ เป็นไปตามกลไกทางธุรกิจเพื่อสังคมและได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ
3. เกิดการเลียนแบบหรือนำธุรกิจนี้ไปต่อยอดเกิดการพัฒนาอาชีพคนพิการในอีกหลากหลายรูปแบบ โดยคนพิการ กลุ่มคนพิการ องค์กรคนพิการ
ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ จาก 2 ฝ่าย:
ฝ่ายคนพิการ (ผู้วาดภาพ):
· หากผลงานได้รับการพิจารณา ทางเราจะส่งสัญญา ไปให้ทางอินเตอร์เน็ต พร้อมโทรศัพท์กลับเพื่ออธิบายรายละเอียด
· เซ็นต์สัญญาพร้อมสำเนาเอกสาร กลับมาที่โครงการ ตามรายละเอียดการจัดส่ง
· นำผลงานจัดแสดง และจำหน่ายทั้งกรรมมสิทธิ์ และลิขสิทธิ์
· ทุกๆ 3 เดือน จะทำการสรุปผลการดำเนินการ และสรุปรายได้ของคนพิการ พร้อมโอนเงินเข้าบัญชี ไม่เกิน 15 วันทำการ
ฝ่ายลูกค้าหรือผู้ประกอบการ:
· ติดต่อเพื่อเข้าเยี่ยมชมผลงานภาพวาดฝีมือคนพิการ
· เข้าเยี่ยมชมผลงาน และตัดสินใจในการซื้อกรรมสิทธิ์ หรือลิขสิทธิ์ภาพวาด
· บางกรณีทางเราต้องนำเสนอโครงการในที่ประชุมของผู้ประกอบการ
· ข้อกำหนดต่างๆ ของการสนับสนุนโครงการ ***อยู่ในระหว่างจัดเตรียมรายละเอียด
ตัวอย่างการสนับสนุนจากสถานประกอบการ:
· นำภาพวาดไปเป็นแบบ หรือเป็นส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ เช่น บนกล่องกระดาษทิชชู่ บนซองขนม
· นำภาพวาดพร้อมกรอบไปติดตั้งบนผนังในห้องพักตามโรงแรม ในลักษณะเช่าภาพ หรือร่วมข้อตกลงในการหมุนเวียนภาพตามสาขาโรงแรมในเครือ
· นำภาพวาดไปเป็นลายบนฝาโน๊ตบุ๊ค หรือลายฝาหลังมือถือ
· นำภาพวาดไปเป็นลายบนเสื้อยืด เสื้อแจ็คเก็ต เสื้อโปโล
· นำภาพวาดไปเป็นแบบในปฏิทินตั้งโต๊ะ
สถานที่จัดแสดงภาพวาด: 98/174 หมู่ 1 (หมู่บ้าน S-GATE กาญจนาภิเษก) ต.ละหาร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 11110
รายชื่อคนพิการที่เข้าร่วมโครงการ
พร้อมตัวอย่างภาพวาด
ผู้ประสานงานและดำเนินการโครงการ
ติดต่อ 086-314-7866 (LINE)
นายปรีดา ลิ้มนนทกุล
ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ
หน้าเพจเครือข่าย https://www.facebook.com/NPRPWD/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น